คราฟเบียร์ (Craft Beer) เครื่องดื่มที่เป็นเหมือนงานศิลปะ
เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลายคนชื่นชอบ และรู้หรือไม่ว่ากว่าจะได้คราฟเบียร์มาแต่ละตัว ต้องอาศัยจินตนาการในการรังสรรค์อย่างมาก เริ่มตั้งแต่จินตนาการรสชาติที่อยากได้ สีที่อยากเห็น หอมความความหอมที่ต้องการอยากดม บอดี้ที่อยากดื่ม อีกทั้งต้องใช้ความใส่ใจตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบจนถึงการปรุง เสมือนเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะเลยทีเดียว และนี่เป็นเหตุผลว่าการมีช้อยส์ของเบียร์คราฟให้เลือกนั้นสามารถช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับทุกคนได้อย่างไร
คราฟเบียร์ (Craft Beer) คืออะไร?
คราฟเบียร์ (Craft Beer) พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด คือ เบียร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายย่อย (Independently owned) และผลิตในปริมาณไม่มาก เป็นเบียร์ที่ถูกออกแบบด้วยจินตนาการของผู้ผลิตรายนั้นๆ ซึ่งทำให้เบียร์มีเอกลักษณ์และอรรถรสที่หลากหลาย เป็นเหมือนงานศิลปะหรืองานฝีมือของผู้ผลิตเลยทีเดียว
3 จุดเด่นของคราฟเบียร์ ได้ดังนี้
- สร้างสรรค์และผลิตโดยผู้ผลิตเบียร์รายย่อย
- เป็นแหล่งกำเนิดของ นวัตกรรม (Innovation) ที่ผู้ผลิตจะมุ่งเน้นที่ความแปลกใหม่ หรือต่อยอดในสิ่งที่มีอยู่แล้วและดัดแปลงให้อยู่ในสไตล์ใหม่ ของตัวเอง
- มักจะมีการเพิ่มส่วนผสมที่น่าสนใจ เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของเบียร์นั้น ๆ
ข้อแตกต่างของคราฟเบียร์ & เบียร์คอมเมอร์เชียล
นอกจากเรื่องความหลากหลายของรสชาติที่มีให้เลือกมากกว่า ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคงเป็นเรื่อง ปริมาณแอลกอฮอล์ โดยคราฟเบียร์ส่วนใหญ่จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงกว่าเบียร์คอมเมอร์เชียลมาก ดังนั้นอาจจะต้องระวังเป็นพิเศษ สังเกตปริมาณแอลกอฮอล์ที่ฉลากข้างขวด และวางแผนการดื่มให้ดี ๆ เพราะหนึ่งขวดสามารถเทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ธรรมดาประมาณ 2-4 ขวดขึ้นอยู่กับยี่ห้อด้วย
และรู้หรือไม่ว่า เบียร์คราฟ (ที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์) ยังมีประโยชน์ที่น่าสนใจคือ จากผลการศึกษาที่ Polytechnic State University แคลิฟอร์เนีย ได้ทำการวิจัยพบว่า วิตามิน B3 ที่พบในยีสต์ที่เรานำไปหมักคราฟเบียร์ สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอล และลดอาการหลอดเลือดแดงแข็งได้อีกด้วย
คราฟเบียร์ทำในไทยหรือไม่?
ในช่วงแรกๆ คราฟเบียร์ไทยที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านต่างๆ 100% มีฐานผลิตอยู่ต่างประเทศและอิมพอร์ตเข้ามาจำหน่ายในไทยแบบถูกกฎหมาย สาเหตุที่ต้องทำแบบนั้น เนื่องจากกฎหมายการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ของไทย มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ยากต่อการเริ่มต้นสำหรับประชาชนทั่วไป โดยมีข้อสรุปหลักๆ ดังนี้
- ต้องเป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
- มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด
- มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
- ในกรณีที่ผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต จะต้องมีขนาดกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี และไม่เกิน 1,000,000 ลิตรต่อปี (ประมาณไม่ต่ำกว่า 30,000 ขวด/ปี)
จนกระทั่งปีช่วงปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้มีโรงต้มเบียร์ที่เปิดให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตตามสูตรของตนเอง ตีแบรนด์ตัวเอง และเสียภาษีอย่างถูกกฎหมาย (Contract Brewery) ซึ่งการทำเบียร์ที่โรงต้มเบียร์ OEM ทำให้ผู้ผลิตเบียร์รายย่อยสามารถจำหน่ายตามท้องตลาดได้ และที่น่าติดตามมากที่สุดในตอนนี้คือ ในอนาคตอันใกล้นี้จะมี Contract Brewery เปิดใหม่อีกหนึ่งโรง ที่อนุญาตให้นักปรุงเบียร์รายย่อย (บริวเวอร์) เข้าไปทำเบียร์คราฟที่ตนเองวาดฝันไว้ให้ออกมาได้จริงและขายได้จริง ซึ่งเท่ากับว่าตอนนี้คราฟท์เบียร์ไทยสามารถผลิตและจำหน่ายในไทยได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว